ลายผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์


ผ้าไหมสุรินทร์



          ผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์มีการผลิตมานานแล้วและยังคงรักษารูปแบบ สีสัน ลวดลาย ความประณีตบรรจงรวมถึงเทคนิคการทอแบบโบราณอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน คนชาติพันธุ์เขมร ลาว และกูย ในจังหวัดสุรินทร์ล้วนสืบสานงานทอผ้ามาจากบรรพบุรุษซึ่งมีทั้งความแตกต่างกันด้านเทคนิคการทอ ลวดลาย การให้สี การย้อมสีและวัตถุดิบที่ใช้ ในขณะเดียวกันก็มีการถ่ายทอดลวดลาย กรรมวิธีการผลิตซึ่งกันและกันเสมอ แต่ผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรมีเอกลักษณ์เด่นชัดที่สุดมีความกลมกลืนกันของลวดลายและสีสัน สีย้อมนั้นนิยมใช้สีธรรมชาติที่ได้จากพืชหลายชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ทำให้ผ้าไหมที่ผลิตออกมามีสีเย็นตาไม่ฉูดฉาด

          กระบวนการผลิตผ้าไหมนั้นเริ่มต้นจากการปลูกต้นหม่อน การเลี้ยงตัวไหม สาวไหม ออกแบบลวดลาย การย้อมสี แล้วจึงนำมาทอเป็นผืนผ้า ในแต่ละขั้นตอนล้วนต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ความชำนาญและมีใจรักของช่างทอ

ผ้าพื้นเมืองสุรินทร์  

          ในจังหวัดสุรินทร์มีการทอผ้ามากมายหลายแบบ  ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น  ๓ ประเภท คือ

                   ๑. ผ้านุ่งหญิง และผ้านุ่งชาย

๒. ผ้าสไบ และผ้าขาวม้า

๓. เชิงผ้านุ่ง

          ผ้านุ่งหญิง และผ้านุ่งชาย  ผ้าชนิดนี้นิยมทอมากที่สุด มีหลายสี หลากลวดลาย และส่วนใหญ่จะเป็นผ้านุ่งผู้หญิง อาทิ





ผ้าโฮล

          ผ้าโฮล เป็นลวดลายต้นแบบดั้งเดิมของชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรก็ว่าได้ มีทั้งผ้าโฮลที่เป็นผ้านุ่งของผู้หญิง(ซัมป็วดโฮล) ซึ่งเป็นผ้าลายมัดหมี่ทางขวางสลับกับลายริ้วเฉียง และผ้าโฮลสำหรับผู้ชาย (โฮลเปราะฮ์) ซึ่งจะคล้ายผ้าโฮลของผู้หญิงแต่ไม่มีลายริ้วเฉียงคั่น





ผ้าลายลูกแก้ว

        ลวดลายผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ อดีตบรรพบุรุษได้คิดค้นมาจากลวดลายของผลหวายป่า ลักษณะคล้ายผลระกำหรือสละ ซึ่งมีรูปร่างเป็นช่อคล้ายลูกแก้วในปัจจุบัน แล้วนำไปใช้เป็นลวดลายทอผ้าขึ้นมาเป็นลักษณะรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนซ้อนกันตลอดทั้งผืน



ผ้าสมอ

          ผ้าสมอ เป็นผ้าลายตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆประกอบด้วยสีดำ เหลืองทอง เขียวขี้ม้า และแดงเข้ม  ผ้านุ่งลายนี้ทอโดยไม่มัดหมี่  ส่วนใหญ่คนสูงอายุนิยมนุ่งอยู่กับบ้าน





ผ้าอัมปรม

       อัมปรม เป็นผ้ามัดหมี่สองทางคือ โดยมีการมัดย้อมทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ซึ่งแตกต่างจากผ้ามัดหมี่ทั่วไปของประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นมัดหมี่เฉพาะเส้นพุ่ง อัมปรม เป็นผ้ามัดหมี่ของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายเขมรในบริเวณอิสานใต้ ได้แก่ บริเวณจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ การทอผ้าแบบนี้มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย






 ผ้าสาคู 

     เป็นผ้าที่ย้อมเส้นไหมเป็นสีแล้วทอสลับเส้นจะเป็นลายตารางไหม

ผ้ามัดหมี่

        ลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ชนบทลวดลายดั้งเดิม เป็นลวดลายที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ใช้วิธีการมัดหมี่และทอแบบดั้งเดิม อาจเปลี่ยนแปลงสีสันได้ตามความต้องการ ลายดั้งเดิมลายขนาดเล็ก ได้แก่ ลายกง ลายโคม ลายหมากจับ ลายปลาซิว ลายดอกแก้วน้อย ลายดั้งเดิมลายขนาดกลาง ได้แก่ ลายแมงมุม ลายกนกเชิงเทียน ลายขอพระเทพ ลายขันหมากเบ็ง ลายต้นสน ลายขาเปียน้อย ลายตำลึงเครือ ลายดั้งเดิมลายใหญ่ ได้แก่ ลายนาคเกี้ยว ลายขอเกี้ยว ลายสำเภาหลงเกาะ ลายต้นสนใหญ่ ลายนกยูง เป็นต้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วัดเขาศาลา

ร้านอาหารหลานป้าแดง&รีสอร์ต